JustMakeWeb.com รับทำเว็บไซต์ รับทำเว็บโรงแรม รับทำเว็บขายของ รับทำเว็บบริษัท เว็บสำเร็จรูป รับทำเว็บร้านค้า ออกแบบเว็บไซต์ ใช้งานได้ง่าย รองรับ SEO โปรโมท GOOGLE ให้ติดอันดับได้อย่างรวดเร็ว , ลงโฆษณาฟรี VPS ราคาถูก
รับทำเว็บไซต์
0
ความเป็นมาและโอกาสในการใช้แต่ละชุดการแสดง
 
                                   ศิลปะการแสดงไทย มีอยู่หลากหลายแขนง หลากหลายประเภท หลากหลายภูมิภาค โอกาสนำไปใช้งาน จึงมีความแตกต่างกัน บางการแสดง เหมาะสำหรับงานมงคล
                         บางการแสดงเหมาะสำหรับงานรื่นเริง ต้อนรับนักท่องเที่ยว ต้อนรับแขกบ้านแขกนี้ ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับการเสนอเอกลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค และจุดมุ่งหมายของการจัดงานด้วย


กาารแสดงภาคเหนือ
 
                                         1. การแสดงกลองสะบัดชัย

                                   
กลองสะบัดชัย เป็นกลองที่มีมานานแล้วนับหลายศตวรรษ เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวภาคเหนือ กลองสะบัดชัย มีที่มาจาก กลองชัยมงคล ที่ใช้ตียามออกศึกสงครามในอดีตเพื่อเป็นสิริมงคล เมื่อหมดศึกกองชัยมงคลก็ได้ตกอยู่กับเจ้านายของทางภาคเหนือ จนสุดท้ายกลองเหล่านั้นก็ได้ตกมาอยู่ที่วัดและใช้เป็นเครื่องส่งสัญญาณให้ชาวบ้านได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นในกาเรียกชาวบ้านมาชุมนุม หรือสัญญาณบอกเหตุร้ายให้รับรู้ จนมีวิวัฒนาการให้กลองชัยมงคลมาใช้อยู่ในขบวนฟ้อนรำ จึงได้นำมาใส่ไม้หามและทำกลองให้เล็กลงเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้าย ซึ่งยังมีลูกทุกข์ร่วมอยู่ด้วย ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นกลองบูชาที่ใช้กันในวันพระและในที่สุดก็วิวัฒนาการมาเป็นกลองที่ใช้ในแสดงกลองสะบัดชัยในปัจจุบัน

                                                โอกาสในการแสดงส่วนใหญ่ ใช้แสดงหรือตี เพื่อเปิดงาน เพื่อต้อนรับแขก หรือแสดงเพื่อความเป็นศิริมงคล เอาฤกษ์เอาชัย เช่น เปิดงานอีเว้นท์ต่างๆ งานขึ้นบ้านใหม่ งานเลี้ยง หรืองานเปิดบริษัท เปิดสำนักงาน เป็นต้น

                                                
                        
   
                                   
                                             2. การแสดงวงดนตรีพื้นเมืองล้านนา



 
                             วงดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือ
 
                           มีพื้นที่ครอบคลุม 9 จังหวัด โดยจะเรียกดินแดนแถบนี้ว่า “ล้านนา” โดยมีจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของภาค

                          ลักษณะเด่นของดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือคือ

                                        • มีเครื่องดนตรีประเภทดีด สี ตี และเป่า มาผสมวงกัน

                                        • สำเนียงและทำนองเพลงมีความพลิ้วไหว อ่อนหวาน นุ่มนวล

                                        • ผสมผสานวัฒนธรรมชนเผ่า แวะวัฒนธรรมในคุ้มและวัง จนกลายเป็นดนตรีพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

                                        • เพลงพื้นบ้านที่นิยมบรรเลง เช่น ล่องแม่ปิง สร้อยเวียงพิงค์ กุหลาบเชียงใหม่ น้อยใจยา ปราสาทไหวเป็นต้น
 



                                3. การแสดงฟ้อนดาบ
                                  
        การฟ้อนดาบมีที่มาจากศิลปะการต่อสู้ของชายชาวล้านนาแต่โบราณ โดยผู้เรียนจะต้องเรียนฟ้อนเชิงมือเปล่าให้คล่องแคล่วเสียก่อนจึงจะเรียน ฟ้อนดาบ หรือฟ้อนประกอบอาวุธอื่นๆ ต่อไป แม่ลายฟ้อนของฟ้อนดาบจะคล้ายกับแม่ลายฟ้อนของฟ้อนเชิง แม่ลายฟ้อนของแต่ละครูก็จะแตกต่างกันไป แต่พ่อครูคำ กาไวย์ และอาจารย์ธีรยุทธ ยวงศรี ได้ร่วมกันสืบค้นและเรียบเรียงแม่ลายฟ้อนไว้ให้สอดคล้องกันเพื่อง่ายต่อการ จดจำโดยอาศัยแนวจากการพรรณนาชื่อแม่ลายในการร่ายรำอาวุธจากมหาชาติฉบับสร้อยสังกรกัณฑ์มหาราช เพื่อสอนนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ ดังนี้ ช่วง ที่ 1 ไหว้ครูและขอขมาอภัย เริ่มจากวางดาบ ไขว้กัน เอาสันดาบเข้าหากันดาบทั้งสองเล่มนั้นห่างกันพอประมาณ จากนั้นหากผู้ฟ้อนเป็นผู้ชายให้เดินตีวงรอบดาบ 1 รอบ แล้วเริ่มตบบะผาบหรือฟ้อนสาวไหมอย่างใดอย่างหนึ่ง จบแล้วจึงนั่งลงไหว้หากผู้ฟ้อนเป็นผู้หญิงให้นั่งไหว้ 3 ครั้ง จากนั้นจับดาบ ไขว้ดาบจรดหน้าผาก แล้วเงยหน้าขึ้นก้มหน้าลง แล้วชักดาบลงไว้ข้างหลังทั้งสองข้างแล้วซุยขึ้นเป็นท่าบวกดาบโดยเริ่มจากด้านหน้าตรงก่อนแล้วหันไปทางขวาแล้วบิด ไปทางซ้าย
 

      เมื่อฟ้อนจบทั้ง 32 ท่าแล้ว “นบน้อมขอกราบลงวาง”แล้วจบด้วยการฟ้อนดาบ “พญาเข้าเมือง”
และปัจจุบันนี้ ท่าฟ้อนดาบทั้ง ๓๒ ท่าที่พ่อครูคำ กาไวย์ และอาจารย์ธีรยุทธ ยวงศรี ได้เรียบเรียงไว้นี้ถือเป็นท่าฟ้อนดาบมาตรฐานที่เป็นต้นแบบให้กับผู้ที่ เริ่มต้นเรียนฟ้อนดาบอุปกรณ์ในการแสดงการฟ้อนดาบทั่วไปนิยมใช้ดาบเมืองจำนวน 2 เล่ม โดยจะวางดาบไว้กับพื้น แล้วผู้ฟ้อนจะไหว้ครูบาอาจารย์ ฟ้อนเชิง ตบบะผาบ แล้วจึงจะมาหยิบดาบร่ายรำไปจนครบ 32 ท่า แล้ววางดาบลงกับพื้นอีกครั้ง
อ้างอิงจาก http://baifernfengfeng.blogspot.com

                               
                                4. การแสดงฟ้อนที

 

     

       คำว่า “ที” หมายถึง “ร่ม” เป็นคำภาษา “ไต” ใช้เรียกในจังหวัดแม่ฮ่องสอน “ที” ทางภาคเหนือมีลักษณะและรูปทรงแตกต่างกันไปแต่ละจังหวัด “ที” ที่ชาวแม่ฮ่องสอนนิยมใช้มีรูปทรงสวยนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการรำได้ฟ้อนทีเป็นผลงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ของวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ จัดแสดงในงานนิทรรศการและการแสดงศิลปะวัฒนธรรมของสถานศึกษาในสังกัดกองศิลปศึกษา กรมศิลปากร เพื่อเทิดพระเกียรติเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2535 การแสดงชุดนี้นำร่มมาใช้ประกอบลีลานาฏศิลป์โดยมีท่าฟ้อนเหนือของเชียงใหม่ผสมกับท่ารำไตของแม่ฮ่องสอน มีการแปแถว และลีลาการใช้ร่มในลักษณะต่าง ๆ ที่งดงาม เช่น การถือร่ม การกางร่ม การหุบร่ม เป็นต้น

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง

      ใช้ดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือประสมวง ได้แก่ สะล้อกลาง สะล้อเล็ก ซึ่งใหญ่ ซึงกลาง ซึงเล็ก ขลุ่ย กรับคู่ กลองพื้นเมือง



การแต่งกาย

       มุ่งเน้นความสวยงามของเครื่องแต่งกายตามประเพณีนิยมภาคเหนือแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบหญิงไทลื้อ และแบบหญิงล้านนาแบบไทลื้อ นุ่งซิ่นลายขวาง เสื้อปั๊ด เกล้าผมสูงประดับดอกไม้เงิน ผ้าเคียนศีรษะประดับกำไลข้อมือ ต่างหูแบบล้านนา นุ่งซิ่นตีนจก ผ้าคาดเอว เสื้อเข้ารูปแขนยาว เกล้าผมมวยตั้งกระบังผมหน้าสูง ประดับดอกไม้เงินเครื่องประดับมีเข็มขัด กำไลข้อมือ สร้อยคอ ต่างหู การแสดงชุดนี้ใช้เวลาประมาณ 10 นาที



                                5. การแสดงฟ้อนผางประทีป

                                              ฟ้อนผางประทีปเป็นการฟ้อนแบบพื้นเมือง เรียกทั่วไปว่าฟ้อนผางประทีป เป็นการแสดงที่มาจากชาวไทลื้อ ท่ารำมาจากท่าพื้นฐานการรำดาบ มีความเชื่อเกี่ยวกับการได้รับอานิสงส์ของการบูชาผางประทีปและการสอดแทรกความนอบน้อมเพื่อเป็นการเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
                                              สถาบันบ้านครูไก่ สอนศิลป์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการฟ้อนแบบเมืองแบบดั้งเดิมจึงได้ฝึกสอนให้นักเรียนและผู้แสดงได้สืบทอดวัฒนธรรมอันดีงามนี้เพื่อมิให้สูญหายไป และได้นำนักเรียนและนักแสดงเข้าร่วมแสดงในงานประเพณีต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง เพื่อเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมฟ้อนผางให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ชมทั่วไป
 


                                6. การแสดงฟ้อนนกกิงกะลา - ตัวโต
 

                                                  คำว่า “กิ่งกะหร่า” เป็นคำในภาษาไทใหญ่ที่กลายเสียงมา จากภาษาบาลี ในคำว่า “กินรี” ส่วนคำว่า กินนร โดยความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง อมนุษย์ในนิยาย ที่มีความหมายอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดชนิดหนึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งนก ท่อนบนเป็นคนท่อนล่างเป็นนก อีกชนิดหนึ่งมีรูปร่างเหมือนคน เมื่อจะไปไหนมาไหนก็จะใส่ปีกใส่หางบินไป คำว่า กินนร ต่อมาจึงเพี้ยนมาเป็นสำเนียงของ คนไทยว่า “กิ่งกะหร่า” ส่วนชาวไทใหญ่ในอดีตมักใช้คำว่า “นางนก” แทนคำว่า “กิ่งกะหร่า”

                                                  การ “ฟ้อนนกกิ่งกะหร่า” หรือ “รำนกกิ่งกะหร่า” เป็นศิลปะชั้นสูงอันสะท้อนเอกลักษณ์ความเชื่อตามวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน ประเทศสหภาพเมียนมาร์และได้แพร่หลายเข้ามาสู่ประเทศไทยในพื้นที่ล้านนาภาคเหนือเมื่อครั้งที่ชาวไทใหญ่ได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ทางภาคเหนือของไทย ในแถบจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอนโดยได้รับความนิยมและมีการสืบทอดชัดเจนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีชื่อเสียงในการแสดง “ฟ้อนนกกิ่งกะหร่า” มากที่สุด
 

                                                ชุดนกกิ่งกะหร่า ถือเป็นงานฝีมือที่สะท้อนเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมชาวไทใหญ่ ที่มีจินตนาการดัดแปลงวัสดุใกล้ตัว ให้กลายเป็นเสมือนตัวกินนร หรือกินนรี สัตว์ป่าหิมพานต์ ตามความเชื่อของคนในอดีต ที่ออกมาฟ้อนร่ายรำต้อนรับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเทศกาลวันออกพรรษา โดยชุดนกกิ่งกะหร่านั้น ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญคือ ปีก หาง และลำตัว ปีกและหางมีโครงสร้างที่ทำจากไม้ไผ่ นำมาเหลาขึ้น เป็นโครงเย็บติดด้วยผ้าสวยงาม อาทิ ผ้าลูกไม้ ผ้าแพร และผูกโยงด้วยเชือก ให้ปีกและหางสามารถกางออกได้เหมือนปีกนก โดยปีกและหางผูกเชือกให้คล้องกับข้อมือ เพื่อใช้บังคับในการร่ายรำ ส่วนลำตัวสวมใส่เสื้อกางเกงสีเดียวกัน
                                                ในอดีตชุดนกกิ่งกะหร่าจะมีปีกและหางแยกกัน แต่ในปัจจุบันบางที่ทำให้ปีกและหางเป็นชิ้นเดียวกันเพื่อสะดวกในการจัดทำ โดยสมัยก่อนนั้นจะใช้กระดาษสามาย้อมสี เอามาตกแต่งให้เป็นลวดลายให้ดูสวยงาม และให้ผู้ชายที่สูงอายุเป็นคนรำโดยจะใช้หน้ากากสวมใส่แทนการแต่งหน้า ช่างผู้ทำส่วนใหญ่จะเป็นผู้สอนท่ารำในการฟ้อนนกกิ่งกะหร่าไปพร้อมกัน ซึ่งมีเชื้อสายไทใหญ่ ส่งต่อภูมิปัญญาทางประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามสู่ชนรุ่นหลังต่อไป
 


                                             ปัจจุบันการแสดงนกกิ่งกะหร่าใช้แสดง คู่กับการฟ้อนโตหรือ ตัวโต ที่ออกมาร่วมร่ายรำยินดีในการเสด็จต้อนรับพระพุทธองค์ด้วยเช่นกัน โต หรือ ตัวโต เป็นจินตนาการของสัตว์ในป่าหิมพานต์อีกชนิดนี้ เป็นสัตว์สีเท้า ส่วนหัวมีลักษณะคล้ายเลียงผา มีขนยาวปุกปุย บางตัวไม่มีขน บางตัวมีหัวคล้ายมังกร เฉพาะที่ปากมีการออกแบบให้ขยับและคาบสิ่งของได้ปัจจุบันที่นิยมคาบธนบัตร จากผู้ชมที่ชื่นชอบการแสดงและให้รางวัลกับตัวโตกลับมา

                                             การแสดงฟ้อนนกกิ่งกะหร่า ในปัจจุบันจะนิยม ใช้แสดงในงานต่าง ๆ และจะนิยมในงานมงคลต่าง ๆ ของชาวไทยใหญ่ เช่น งานออกหว่า (ออกพรรษา) งานปีใหม่ไต งานหลู่ข้าวใหม่งานปอยครูหมอ งานปอยส่างลอง งานปอย(สงกรานต์) แต่จะไม่แสดงในงานแต่งงาน เนื่องจากถือเป็นงานที่มีความเกี่ยวข้องทางด้าน เพศสัมพันธ์ และไม่แสดงฟ้อนนกกิ่งกะหร่าในงานศพหรืองานอวมงคล
                     
                                             อ้างอิงจาก ศิลปะการฟ้อนนกกิ่งกะหร่าในวัฒนธรรมชาวไทใหญ่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ
 

                                              
                                    7. การแสดงฟ้อนสลุง
 

                                                  การแสดงฟ้อนสลุงเป็นการสร้างสรรค์ท่ารำแบบล้านนา โดยใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดงคือ สลุง ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองของชาวล้านนา หมายถึง ภาชนะใส่น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ทำด้วยโลหะเงิน หรือทอง มีลักษณะเช่นเดียวกับขันน้ำ มีขนาดแตกต่างกันตามความต้องการในการนำไปใช้สอย  ในอดีตเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันเถลิงศกใหม่ของชาวล้านนา มีประเพณีสรงน้ำพระ ชาวบ้านนำขมิ้น ส้มป่อย น้ำอบ มาผสมรวมกันเพื่อสรงน้ำพระ และอีกเทศกาลหนึ่ง ที่สำคัญของชาวเชียงใหม่ คือ เทศกาลใส่ขันดอก อินทขิล จัดขึ้นที่ วันเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นประจำทุกปี ซึ่งกิจกรรมหลักๆคือการนำดอกไม้ธูปเทียน เตรียทมจากที่บ้านไปถวายพระ ซึ่งสลุง ถือเป็นภาชนะที่ใส่ดอกไม้ได้จำนวนมาก จึงมักนิยมเห็น ผู้คนถือกันเข้าวัดมาทำบุญเป็นประจำ อีกนัยหนึ่งของการแสดง เนื่องด้วยตัวสลุง เป็นภาชนะที่สามารถใส่ดอกไม้ ที่ใช้สำหรับโปรยได้เป็นจำนวนมาก ขณะที่นักแสดงโปรย จึงมีความสวยงามอลังการน่าชม มากกว่าแบบถึงขันดอกเล็ก ๆ
 


                                 8. การแสดงฟ้อนโคมบัว


 
                                           การแสดงฟ้อนโคมบัว เป็นการแสดงที่สร้างสรรค์และผสมผสานระหว่างฟ้อนผางประทีปและรำโคมบัวของภาคกลาง ซึ่งเป็นการแสดงที่เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยดัดแปลงมาจากญวนรำกระถาง แต่การรำชุดนี้จะใช้โคมเป็นรูปดอกบัว โอกาสที่จัดแสดงมักจะเป็นในงานพระราชพิธีมงคลเฉลิมฉลองที่สำคัญ และยิ่งใหญ่ โดยมากจะจัดแสดงในเวลากลางคืน เพื่อเน้นลีลาการรำประกอบตัวโคมที่มีแสงสีอันสวยงาม ซึ่งการแสดงชุดนี้ ทางสถาบันบ้านครูไก่ ได้ประยุกต์ดัดแปลงการแต่งกายของผู้แสดง ให้สวยงามตามแบบฉบับล้านนา และถือโคมบัวแทนการถือผางประทีป เพื่อความโดดเด่นในการมองเห็น มักใช้แสดงในงานกลางคืน หรือเทศกาลลอยกระทง 

 

                                                   9. การแสดงฟ้อนนางเสลี่ยง

 

                               
                                   
 การแสดงฟ้อนนางเสลี่ยง เป็นการแสดงที่สร้างสรรค์มาจากประวัติศาสตร์ของล้านนา ในด้านการเมืองการปกครองในสมัยอดีตที่มีผู้หญิงเป็นเจ้านาย เจ้าปกครองเมือง เช่น พระนางจิรประภาเทวี หรือ พระนางมหาเทวีวิสุทธิ ซึ่งมีเรื่องราวการปกครองทางประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน และในอดีตกาลการเดินทางสัญจรของเจ้าเมือง เพื่อแสดงถึงยศศักดิ์หรือฐานันดร ก็จะต้องมีขบวนนำเสลี่ยงโดยมีผู้แบกหาม ในการเดินทาง เพราะถนนหนทางในสมัยอดีย ยังไม่มีความสะดวกสบายอย่างเช่นในปัจจุบัน อีกนัยหนึ่งการได้นั่งเสลี่ยง ไปรับแขกบ้านแขกเมืองผู้มาเยือน ถือเป็นการให้เกียรติอย่างสูงสุดเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงวัฒนธรรมประเพณีของล้านนามาอย่างยาวนาน แสดงถึงความสวยงามอ่อนช้อยแต่แฝงไปด้วยพลังอำนาจอย่างที่สุดเช่นกัน การแสดงชุดนี้จึงสร้างความประทับใจและความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่ได้ชมอย่างมาก การแสดงฟ้อนนางเสลี่ยง ทางสถาบันบ้านครูไก่ ได้จัดการแสดงขึ้นเมื่อเปิดสำนักงาน เพื่อเป็นการแสดงการต้อนรับและให้เกียรติผู้ที่มาร่วมงานในวันนั้น


                                                 10.การแสดงระบำชาวเขา
 


 

                                   ระบำชาวเขา  เป็นการแสดงของชาวเขาเผ่าลิซู หรือลีซอโดยเป็นระบำชุดที่ใช้แสดงในงานรื่นเริงต่าง ๆ ชุดที่ใช้ได้รับการประยุกต์มาจากเครื่องแต่งกายที่ชาวเผ่าลิซูใช้ในชีวิตประจำวัน  เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงคือ ขลุ่ยไม้ไผ่ สะล้อ และพิณ
                                                 
                                                     การแสดงเน้นรูปแบบถ่ายทอดวิถีชีวิตของชนเผ่า เช่นการละเล่น การเดิน การนั่ง ให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงเอกลักษณ์อันโดดเด่นของชาวเขา